การส่องกล้องผ่าตัดถุงน้ำที่รังไข่
( Laparoscopic Ovarian Cystectomy )
"ซีสต์" หรือ "cyst" หมายถึง "ถุงน้ำ" ดังนั้นอะไรก็ตามที่มีเปลือกและมีน้ำหรือของเหลวภายในก็จะเรียกว่า "ซีสต์" ซึ่งซีสต์เองสามารถเกิดได้ในหลายอวัยวะในร่างกาย  
ถุงน้ำรังไข่หรือซีสต์ เป็นถุงน้ำตามธรรมชาติที่เกิดจากการมีรอบเดือนในวัยเจริญพันธุ์ เมื่อมีประจำเดือนเยื่อบุโพรงมดลูกก็จะลอกออก รังไข่ก็จะเริ่มสร้างฮอร์โมนและโตเป็นถุงน้ำพอถุงน้ำแตกออกเพื่อให้ไข่ตก ถุงน้ำที่คาอยู่จะค่อยๆยุบไปได้เอง ในกรณีถุงน้ำไม่แตกออกให้ไข่ตก ถุงน้ำก็จะค้างคาอยู่นานกว่าปกติ คือ 2-3 เดือน จึงค่อยยุบไป ในบางราย เมื่อไข่ตกแล้วอาจมีเลือดออกในถุงน้ำเล็กน้อยซึ่งมักหายได้เองตามธรรมชาติ แต่หากมีเลือดออกมากในช่องท้องก็จำเป็นต้องทำการผ่าตัดรักษา
ข้อดีของการส่องผ่าตัดถุงน้ำรังไข่หรือซีสต์
ปัจจุบัน การผ่าตัดทางนรีเวชสามารถผ่าตัดด้วยวิธีการส่องกล้อง ลดปัญหาที่ผู้หญิงส่วนใหญ่กลัว นั่นคือการมีแผลใหญ่ เจ็บแผล และการที่ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลนานหลายวัน การผ่าตัดส่องกล้องยังมีข้อดีอีกมาก ดังนี้
- ขนาดของแผลเล็กเพียง 1-2 ซม. ในขณะที่การผ่าตัดแบบเปิดจะมีแผลกว้างถึง 12-20 ซม. ลดขนาดของแผลเป็นที่จะเกิดขึ้นจากการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
- แพทย์มองเห็นรายละเอียดของตำแหน่งที่ต้องการผ่าตัดได้ชัดเจนด้วยกำลังขยายของกล้อง ทำให้ผ่าตัดได้ตรงจุดจึงลดการกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ
- ลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในที่ทำการผ่าตัด ทำให้เจ็บน้อย ปวดน้อย ลดการเสียเลือด ฟื้นตัวไว
- ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน และโรคแทรกซ้อนต่างๆ ลดการเกิดพังผืดในช่องท้องจากการผ่าตัดแบบเปิด
- พักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน ในบางกรณีอาจจะกลับบ้านได้ทันทีหลังการผ่าตัด ซึ่งเร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดที่ต้องใช้เวลาพักฟื้นเป็นสัปดาห์
- ปลอดภัยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดช่องท้อง
การเตรียมตัวก่อนการส่องกล้องผ่าตัดถุงน้ำที่รังไข่
- เข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาสูติ-นรีเวชกรรม ที่โรงพยาบาลนครินทร์และรับคำแนะนำ
การดูแลตนเองหลังการส่องกล้องผ่าตัดถุงน้ำที่รังไข่
- 7 - 10 วันแรกไม่ควรให้แผลเปียกน้ำ
- งดน้ำและอาหาร 8 ชั่วโมงก่อนการส่องกล้องระบบทางเดินปัสสาวะ
- หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำให้นำยามาโรงพยาบาล
- สามารถออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดิน
- ใน 6 สัปดาห์แรก ควรงดกิจกรรมที่ต้องออกแรงหน้าท้อง
- กินยาตามแพทย์สั่ง และพบแพทย์ตามนัดหมาย
- หากมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ แผลบวม แดง แฉะ ปวดท้องมากขึ้น ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดนัด